ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข
ว่าด้วยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
พ.ศ. ๒๕๕๔
พ.ศ. ๒๕๕๔
โดยที่เป็นการสมควรกำ หนดระเบียบสำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำ หมู่บ้านเพื่อคุ้มครองประชาชน ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุนให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของชุมชน ตามหลักการการสาธารณสุขมูลฐานของกระทรวงสาธารณสุข
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยอาสาสมัครสาธารณสุข
ประจำหมู่บ้าน พ.ศ. ๒๕๕๔ ”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับในวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในระเบียบนี้
“อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกจาก
หมู่บ้านหรือชุมชนและผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรฝึกอบรมมาตรฐานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำ
หมู่บ้านที่คณะกรรมการกลางกำหนด ได้แก่
(๑) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
(๒) อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานครซึ่งปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในเขต
กรุงเทพมหานคร
(๓) อาสาสมัครสาธารณสุขอื่นตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านใช้ชื่อย่อว่า “อสม.” มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Village
Health Volunteer และใช้ชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า “VHV”
Health Volunteer และใช้ชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า “VHV”
“องค์กรอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน” หมายความว่า การรวมกลุ่มของอาสาสมัคร
สาธารณสุขประจำหมู่บ้านในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ชมรม สมาคม หรือมูลนิธิ ทั้งนี้การรวมกลุ่มดังกล่าว
ให้เป็นไปตามประกาศที่คณะกรรมการกลางกำหนด
“สถาบันฝึกอบรมและพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน” หมายความว่า
หน่วยงานของรัฐซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลางให้ดำเนินการจัดการฝึกอบรมและพัฒนา
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โดยครูฝึกอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
“ครูฝึกอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน” หมายความว่า บุคคลที่ผ่านการ
ฝึกอบรมและประเมินผลตามหลักสูตรฝึกอบรมมาตรฐานครูฝึกอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำ
หมู่บ้านตามประกาศที่คณะกรรมการกลางกำหนด
“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น
และมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้น
โดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และองค์การมหาชน
“คณะกรรมการกลาง” หมายความว่า คณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนอาสาสมัคร
สาธารณสุขประจำหมู่บ้านกลาง
“คณะกรรมการระดับจังหวัด” หมายความว่า คณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุน
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านระดับจังหวัด หรือคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนอาสาสมัคร
สาธารณสุขกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามระเบียบนี้
ข้อ ๔ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำ หมู่บ้าน สามารถแต่งเครื่องแบบอาสาสมัคร
สาธารณสุขและประดับเครื่องหมาย หรือตราสัญลักษณ์ ตามแบบแนบท้ายระเบียบนี้
ข้อ ๕ การดำเนินการเกี่ยวกับอาสาสมัครสาธารณสุขอื่น ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ
การคัดเลือก การฝึกอบรมความรู้ความชำนาญ ประกาศนียบัตร การขึ้นทะเบียน การออกบัตรประจำตัว
และการสิ้นสุดสภาพของอาสาสมัครสาธารณสุขอื่นตามประกาศที่คณะกรรมการกลางกำหนด
ข้อ ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามระเบียบนี้ และมีอำนาจ
ออกประกาศ เพื่อปฏิบัติการตามระเบียบนี้
ประกาศ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ข้อ ๗ ในกรณีมีปัญหาในการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด
หมวด ๑
คณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
คณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
ข้อ ๘ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุน
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านกลาง ประกอบด้วย
(๑) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นที่ปรึกษา
(๒) ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ
(๓) อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นรองประธานกรรมการ
(๔) อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นกรรมการ
(๕) อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นกรรมการ
(๖) อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นกรรมการ
(๗) อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นกรรมการ
(๘) อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นกรรมการ
(๙) อธิบดีกรมอนามัย เป็นกรรมการ
(๑๐) เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นกรรมการ
(๑๑) เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นกรรมการ
(๑๒) อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นกรรมการ
(๑๓) ผู้แทนกรมบัญชีกลาง เป็นกรรมการ
(๑๔) ผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการ
(๑๕) หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการ
(๑๖) ผู้แทนกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นกรรมการ
(๑๗) ผู้แทนองค์กรอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านระดับประเทศ
จำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ
(๑๘) ผู้แทนองค์กรอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านระดับภาค
ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง
ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร แห่งละหนึ่งคน เป็นกรรมการ
ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งจำนวนไม่เกินสามคน เป็นกรรมการ
ให้รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพที่ดูแลกองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน
เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้อำนวยการกองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน เป็นกรรมการและ
ผู้ช่วยเลขานุการ
ข้อ ๙ ให้คณะกรรมการกลางมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) เสนอนโยบายการส่งเสริมศักยภาพ การกำหนดบทบาท และการสนับสนุนสวัสดิการ
ให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านต่อรัฐมนตรี
(๒) ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการออกประกาศ เรื่องงานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำ
หมู่บ้านตามระเบียบนี้
(๓) ให้คำแนะนำแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติการตามระเบียบฉบับนี้
(๔) กำหนดหลักสูตร และประเมินมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำ
หมู่บ้าน ตามประกาศที่คณะกรรมการกลางกำหนด
(๕) ส่งเสริม พัฒนา สนับสนุนกิจกรรม ตามมาตรฐานสมรรถนะของอาสาสมัครสาธารณสุข
ประจำหมู่บ้าน และมาตรฐานงานสาธารณสุขมูลฐาน
(๖) ส่งเสริม พัฒนาและสนับสนุนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านรวมกลุ่มในการ
ทำงานเป็นเครือข่ายองค์กรอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
(๗) แต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการตามระเบียบนี้
(๘) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ระเบียบนี้กำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการกลาง
(๙) พิจารณาหรือดำเนินการในเรื่องอื่นตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
ข้อ ๑๐ ให้มีคณะกรรมการแต่ละจังหวัดเรียกว่า คณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุน
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านระดับจังหวัด ประกอบด้วย
(๑) ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นที่ปรึกษา
(๒) นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็นประธานกรรมการ
(๓) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไป
จำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ
(๔) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน จำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ
(๕) สาธารณสุขอำเภอ จำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ
(๖) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล
หรือหัวหน้าสถานีอนามัย จำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ
(๗) ท้องถิ่นจังหวัด เป็นกรรมการ
(๘) หัวหน้ากลุ่มงานในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
จำนวนไม่เกินสามคน เป็นกรรมการ
(๙) ผู้แทนองค์กรอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
ระดับจังหวัด จำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ
(๑๐) ผู้แทนองค์กรอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
ระดับอำเภอ อำเภอละหนึ่งคน เป็นกรรมการ
ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแต่งตั้ง จำนวนไม่เกินสามคน เป็นกรรมการ
ให้นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญที่ได้รับมอบหมายจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด
เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานอาสาสมัครสาธารณสุขของ
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ข้อ ๑๑ ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ข้อ ๑๒ ให้คณะกรรมการระดับจังหวัดมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้มีอำนาจและหน้าที่เฉพาะในเขตจังหวัด หรือในเขตกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี
(๒) ดำเนินการตามนโยบายการส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนสวัสดิการแก่อาสาสมัคร
สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
(๓) พิจารณาตรวจสอบกรณีมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
(๔) แต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการตามระเบียบนี้
(๕) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ระเบียบนี้กำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการระดับ
จังหวัด
(๖) พิจารณาหรือดำเนินการในเรื่องอื่น ๆ ตามที่รัฐมนตรี หรือคณะกรรมการกลาง
มอบหมาย
ข้อ ๑๓ ผู้ทรงคุณวุฒิตามข้อ ๘ วรรคสอง และข้อ ๑๐ วรรคสอง มีวาระอยู่ในตำแหน่ง
คราวละสี่ปีและอาจได้รับการแต่งตั้งอีก
ข้อ ๑๔ การประชุมคณะกรรมการกลางต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
ของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน
ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
ข้อ ๑๕ ในการประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้
รองประธานกรรมการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ถ้ารองประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม
หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
ข้อ ๑๖ การประชุมของคณะกรรมการระดับจังหวัดและคณะอนุกรรมการให้นำความใน
ข้อ ๑๔ และข้อ ๑๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
หมวด ๒
หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเข้ารับการฝึกอบรมเป็น
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
ข้อ ๑๗ บุคคลที่อาจได้รับคัดเลือกเข้ารับการฝึกอบรมเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำ
หมู่บ้านต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
(๑) อายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์
(๒) มีชื่อในทะเบียนบ้านและอาศัยอยู่เป็นการประจำในหมู่บ้านหรือชุมชนที่ประสงค์จะเป็น
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านไม่น้อยกว่าหกเดือน
(๓) มีความรู้สามารถอ่านออกเขียนได้
(๔) สมัครใจและเสียสละเพื่อช่วยเหลือการดำเนินงานสาธารณสุข
(๕) ประสงค์จะเข้าร่วมหรือเคยเข้าร่วมการดำเนินงานสาธารณสุขและต้องการพัฒนาชุมชน
ของตนเอง
(๖) มีความประพฤติอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดี ได้รับความไว้วางใจและยกย่องจากประชาชน
(๗) มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ และมีพฤติกรรมทางด้านสุขภาพที่เป็นแบบอย่าง
(๘) มีเวลาให้กับการทำงานในบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
ข้อ ๑๘ การคัดเลือกบุคคลตามข้อ ๑๗ ให้กระทำดังนี้
(๑) ให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการจัดให้มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในแต่ละ
ท้องที่ในสัดส่วนของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านอย่างน้อยหนึ่งคนต่อหลังคาเรือนไม่น้อยกว่า
สิบหลังคาเรือน
(๒) ให้หมู่บ้านหรือชุมชนคัดเลือกบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๑๗ และแสดงเจตนาเป็น
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โดยความเห็นชอบของหัวหน้าครัวเรือนหรือผู้แทนจำนวน
ไม่น้อยกว่าสิบหลังคาเรือนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านหรือชุมชนที่บุคคลตามข้อ ๑๗ นั้นมีชื่อในทะเบียนบ้าน
และอาศัยอยู่เป็นการประจำไม่น้อยกว่าหกเดือน
(๓) ให้สถานบริการสุขภาพที่รับผิดชอบชุมชนนั้นเสนอรายชื่อบุคคลตาม (๒) ต่อนายแพทย์
สาธารณสุขจังหวัด หรือผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี เพื่อเข้ารับการ
ฝึกอบรม
ข้อ ๑๙ หากบุคคลที่ได้รับคัดเลือกตามข้อ ๑๘ เคยเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำ
หมู่บ้านมาก่อน และเว้นการปฏิบัติหน้าที่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านติดต่อกันเกินห้าปี
บุคคลนั้นต้องเข้ารับการฝึกอบรมตามหลักสูตรฝึกอบรมมาตรฐานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านใหม่
ข้อ ๒๐ ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กร
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน สนับสนุนการจัดการให้ผู้ได้รับการคัดเลือกเข้ารับการฝึกอบรม
ตามหลักสูตรฝึกอบรมมาตรฐานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านที่คณะกรรมการกลางกำหนด
ณ สถาบันฝึกอบรมและพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
ข้อ ๒๑ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด หรือในกรณีอาสาสมัคร
สาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้อำนวยการสำนักอนามัย
กรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี ออกใบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมตามข้อ ๒๐ และผ่าน
การประเมินความรู้ความสามารถตามหลักสูตร
ข้อ ๒๒ ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด หรือผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร
แล้วแต่กรณี ดำเนินการขึ้นทะเบียนบุคคลตามข้อ ๒๑ เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
พร้อมออกบัตรประจำตัวอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านตามประกาศที่รัฐมนตรีกำหนด
ข้อ ๒๓ ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กร
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านสนับสนุนการจัดการฝึกอบรมเพื่อฟื้นฟูความรู้ความสามารถ
ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำ หมู่บ้าน หรือการอบรมความรู้ความชำ นาญเฉพาะทาง
ให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านที่ปฏิบัติงานมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี เพื่อยกระดับ
ความสามารถของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านตามมาตรฐานสมรรถนะอาสาสมัครสาธารณสุข
ประจำหมู่บ้านและมาตรฐานงานสาธารณสุขมูลฐานตามประกาศที่คณะกรรมการกลางกำหนดให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด หรือผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี
ดำเนินการออกหนังสือรับรองความรู้ความชำนาญเฉพาะทางให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านที่ผ่านการฝึกอบรมตามวรรคหนึ่ง
ข้อ ๒๔ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านสิ้นสุดสภาพเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหรือผู้อำ นวยการสำ นักอนามัยกรุงเทพมหานคร
แล้วแต่กรณี มีคำสั่งให้พ้นสภาพตามข้อ ๒๖
ข้อ ๒๕ ในกรณีที่หัวหน้าครัวเรือนหรือผู้แทนจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามหลังคาเรือน
ร่วมกันลงลายมือชื่อร้องเรียนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดูแล
ครัวเรือนของตน ให้ยื่นหนังสือร้องเรียนนั้นต่อนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหรือผู้อำนวยการ
สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี
ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหรือผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี
ส่งหนังสือร้องเรียนตามวรรคหนึ่งให้คณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป
ข้อ ๒๖ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหรือผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร
แล้วแต่กรณี อาจมีคำสั่งให้พ้นสภาพการเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หากปรากฏ
ข้อเท็จจริงตามรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการระดับจังหวัดอย่างหนึ่งอย่างใด
ดังต่อไปนี้
(๑) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านผู้นั้นไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมด้านสุขภาพที่กระทรวง
สาธารณสุขหรือหน่วยงานของรัฐจัดขึ้นโดยไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็น
(๒) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านผู้นั้นไม่รักษาจรรยาบรรณของอาสาสมัคร
สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือมีความประพฤติเสียหายที่อาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียศักดิ์ศรี
ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
หมวด ๓
บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
ข้อ ๒๗ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน มีบทบาทและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ปฏิบัติตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข
(๒) เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ หรือจัดการรณรงค์ และให้ความรู้ทางด้านสาธารณสุขมูลฐาน
(๓) ให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข หรือบทบัญญัติ
ของกฎหมายอื่น ๆ
(๔) จัดกิจกรรมเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาสาธารณสุขที่สอดคล้องกับสภาวะสุขภาพ
ของท้องถิ่น
(๕) เป็นแกนนำในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน
โดยการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน และประสานแผนการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
และแหล่งอื่น ๆ
(๖) ให้ความรู้ด้านการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ การเข้าถึงบริการสาธารณสุข
ของประชาชน และการมีส่วนร่วมในการเสนอความเห็นของชุมชนเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ
(๗) ศึกษา พัฒนาตนเอง และเข้าร่วมประชุม ตลอดจนปฏิบัติงานตามที่หน่วยงานอื่นร้องขอ
(๘) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจะต้องดำเนินการตามมาตรฐานสมรรถนะ
ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
(๙) ประสานการดำ เนินงานสาธารณสุขในชุมชนและปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่
ของหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงองค์กรพัฒนาชุมชนอื่น ๆ ในท้องถิ่น
หมวด ๔
สิทธิประโยชน์
สิทธิประโยชน์
ข้อ ๒๘ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านมีสิทธิที่จะได้รับสวัสดิการช่วยเหลือในการ
รักษาพยาบาล ค่าห้องพิเศษและค่าอาหารพิเศษ จากโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการสาธารณสุขในสังกัด
กระทรวงสาธารณสุข ตามประกาศที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยให้เบิกจ่ายจากเงินรายได้
ของหน่วยบริการสาธารณสุขนั้น ๆ
ข้อ ๒๙ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านมีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ
ตามบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบได้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบ
ของกรมบัญชีกลาง
ข้อ ๓๐ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านมีสิทธิได้รับเงินค่าป่วยการในการปฏิบัติหน้าที่
ตามประกาศที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
ข้อ ๓๑ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านมีสิทธิได้รับการประกาศเกียรติคุณตามที่
กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ดังต่อไปนี้
(๑) ได้รับการประกาศเกียรติคุณ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขดีเด่น
(๒) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านที่ผลการปฏิบัติงานดีเด่นมีสิทธิจะได้รับการเสนอชื่อ
เพื่อขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามหลักเกณฑ์การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญ
ยิ่งดิเรกคุณาภรณ์
ข้อ ๓๒ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำ หมู่บ้านและบุตรมีสิทธิได้รับโควตาศึกษา
ในสถาบันการศึกษาสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
ข้อ ๓๓ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านมีสิทธิที่จะได้รับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ รวมทั้ง
กองทุนต่าง ๆ ที่เป็นสิทธิประโยชน์ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ตามที่กระทรวง
สาธารณสุขหรือหน่วยงานอื่นจะได้กำหนด
หมวด ๕
การรักษาจรรยาบรรณอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
การรักษาจรรยาบรรณอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
ข้อ ๓๔ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านควรปฏิบัติหน้าที่โดยรักษาจรรยาบรรณ
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ดังต่อไปนี้
(๑) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยัน อดทน เต็มใจ ตั้งใจ เชื่อมั่น ศรัทธา เสียสละ ซื่อสัตย์
สุจริต ตามบทบาทหน้าที่ที่กำหนด
(๒) ไม่เรียกร้องหรือแสวงหาประโยชน์ส่วนตนโดยอาศัยตำแหน่งหรือบทบาทหน้าที่
(๓) ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม และเมตตาธรรมในการดำเนินงานและรักษาความสามัคคี
ในหมู่คณะ
(๔) ดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ที่ระเบียบนี้กำหนดโดยเคารพต่อกฎหมายและเคารพ
ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
(๕) มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นได้
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๓๕ หลักสูตรฝึกอบรมมาตรฐานอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) พุทธศักราช ๒๕๕๐
ถือว่าเป็นหลักสูตรฝึกอบรมมาตรฐานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านตามระเบียบนี้เท่าที่ไม่ขัด
หรือแย้ง
ข้อ ๓๖ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร
ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านก่อนระเบียบนี้ใช้บังคับให้ถือว่าเป็น
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ตามระเบียบนี้
บุคคลที่ได้ผ่านการอบรมตามหลักสูตรฝึกอบรมมาตรฐานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
และได้รับประกาศนียบัตรแล้วก่อนระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนภายในหนึ่งปีต่อนายแพทย์
สาธารณสุขจังหวัด หรือผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี เพื่อออกบัตร
ประจำตัวอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จึงจะถือว่าเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
ตามระเบียบนี้
ข้อ ๓๗ บุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ครูฝึกอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านอยู่ก่อนวันที่
ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้โดยความเห็นชอบของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด
ข้อ ๓๘ บัตรประจำตัวอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านซึ่งออกก่อนระเบียบนี้ใช้บังคับ
ให้ใช้ได้จนกว่าจะมีการออกบัตรประจำตัวอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านตามระเบียบนี้มาทดแทน
ข้อ ๓๙ บรรดาคำสั่ง ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติของกฎหมายอื่นใด
ที่กำหนดเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเข้ารับการฝึกอบรมเป็นอาสาสมัคร
สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำ
หมู่บ้าน การรักษาจรรยาบรรณของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ระเบียบ
นี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ จนกว่าจะมีประกาศ
ตามระเบียบนี้ใช้บังคับ
ข้อ ๔๐ ในระยะเริ่มแรกที่ยังไม่มีองค์กรอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านตามระเบียบนี้
ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ให้ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งประเทศไทย เป็นผู้แทนองค์กรอาสาสมัคร
สาธารณสุขประจำหมู่บ้านระดับประเทศ ในคณะกรรมการกลาง
(๒) ให้ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง
ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร เป็นผู้แทนองค์กรอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านระดับภาค
ในคณะกรรมการกลาง
(๓) ให้ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านระดับจังหวัด เป็นผู้แทนองค์กร
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านระดับจังหวัด ในคณะกรรมการระดับจังหวัด
(๔) ให้ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขระดับอำเภอ เป็นผู้แทนองค์กรอาสาสมัคร
สาธารณสุขประจำหมู่บ้านระดับอำเภอ ในคณะกรรมการระดับจังหวัด
ประกาศ ณ วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ที่มา : กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
กระทรวงสาธารณสุข
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น